วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การนอนกับความเชื่อ

ความเชื่อเกี่ยวกับการนอน



ห้ามนอนหงายฟ้าจะผ่า
ห้ามนอนคว่ำ - ใจดำ
ห้ามนอนไขว่ห้างกระดิกขาวาสนาไม่ดี
ห้ามนอนเสมอหรือสูงกว่าผู้ใหญ่จะเป็นบาป
ห้ามนอนเอาขาพาดหน้าต่าง ผีเหย้าผีเรือนจะชัง
ห้ามนอนเอามือประสานกันรองหัวจะตายโหง
ห้ามนอนขวางกระดานจะเป็นคนขวางโลก
ห้ามนอนกอดอกเป็นลางร้าย


คน สมัยก่อนจะมีความพิถีพิถันในการวางตัว มีมารยาทที่ดี บุคลิกที่สง่า ไม่มีใครมาตำหนิ ติติงลูกหลานได้ เพราะถ้าลูกหลานใครมีความประพฤติไม่ดี

เขามักจะถามถึงพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทำให้บรรพบุรุษต้องมาหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปกับพฤติกรรมของลูกหลานถ้าอบรมได้ดี เขาก็ถามหา เหมือนกันจะชมเชยไปถึง และก็จะกลายเป็นการการันตีได้เลยว่า ตระกูลนี้เป็นแบบนี้ ตระกูลนั้น เป็นแบบไหน

ฉะนั้นการอบรมลูกหลาน เขาก็จะมีข้อห้าม และข้อควรปฏิบัติมากมาย วันนี้จะมากล่าวถึงเรื่องการนอน


ห้ามนอนหงายฟ้าจะผ่า

ที่ ห้ามนอนหงายเพราะเกรงว่าคนนอนไม่ระมัดระวัง เพราะคนนอนหลับจะไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ถึงความงาม หรือไม่งามของตนเองขณะหลับสนิท คนนอนหลับสนิท จึงไม่ต่างไปจาก คนนอนตายเลย บางคนนอนอ้าปาก น้ำลายไหล หลับตาไม่สนิท นอนผ้าเปิด คิดดูนะ

ถ้าเป็นผู้หญิงสมัยก่อน ใส่ผ้าถุงนอนหงาย แล้วเปิดพัดลม อะไรมันจะเกิดขึ้น คนนอนข้าง ๆ คงไม่เป็นอันหลับอันนอนกันละนะ

เพราะการนอนแบบนี้มีลุ้นนะ ถ้าเคยอ่านพุทธประวัติ จะเห็นว่า จากท่านอนนี้ มีผลทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ต้องปลง จนถึงออกบวชมาแล้ว และการที่บอกว่า นอนหงายแล้วฟ้าผ่า ก็เพื่อให้เด็ก ๆ กลัว ไม่กล้านอนหงาย เปลี่ยนเป็นนอนตะแคง

ซึ่งผิดจากหลักการแพทย์ปัจจุบัน ที่แนะนำให้ นอนหงาย เพราะเป็นท่านอนอิสระ ไม่ทับเส้นสาย ทำให้นอนหลับสบาย และต้องไม่หนุน หมอนสูง ยิ่งถ้าใครนอนราบกับพื้น โดยไม่ต้องใช้หมอน จะทำให้ไม่แก่เร็ว เพระผิวหน้า และลำคอ จะไม่ย่นเหมือนนอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง

แต่ถ้าตามหลักความจริง ท่าจะนอนให้สบายคือนอนตะแคงขวา และกอดหมอนข้าง ท่านี้จะเป็นท่าที่นอนสบาย และหลับสนิท และไม่ดูน่าเกลียดเหมือนนอนหงายเพราะดูแล้วไม่งามตา

ห้ามนอนคว่ำ - ใจดำ

การ นอนคว่ำจะทำให้เราไม่เห็นหน้าใคร และใครก็ไม่เห็นหน้าเรา ถึงเห็นก็เห็นไม่ถนัด ทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เหมือนกับไม่สนใจใคร เป็นการตัดขาดจากโลกภายนอก แต่ จริง ๆ แล้ว การนอนคว่ำไม่ดีตรงที่ว่า

ผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวมาก อายุมาก เส้นเอ็นก็ยืด ถ้าไปนอนคว่ำ จะทำให้นอนไม่สบาย หลับไม่สนิท จะตื่นมาด้วยความไม่สดชื่น ปวดเมื่อยตามเนื้ตามตัว คอเคล็ด ปวดแขนเพราะนอนทับ หรือนอนหันหน้าไปทางใดทางหนึ่งโดยตลอด ไม่มีการพลิกตัว แต่ท่านอนคว่ำนี้ จะใช้ได้ดีกับเด็กทารก

เพราะเขาจะนอนหลับสนิท หัวก็จะทุยสวยไม่บี้แบนเหมือนเด็กที่นอนหงาย เด็กนอนคว่ำจะไม่ผวา และนอนนาน คนไทยได้ชื่อว่า เป็นคนใจดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่พอบอกว่าคนนี้ใจดำ จะแทงใจคนที่ถูกว่า รู้สึกว่าเป็นคนไม่น่าคบ พอมาห้ามนอนคว่ำ เลยบอกว่าถ้านอนคว่ำเป็นคนใจดำ ทำให้ไม่กล้านอน

ห้ามนอนไขว่ห้างกระดิกขาวาสนาไม่ดี

คน บางคนเวลานอนหรือเอนหลังเวลาบ่าย ๆ หรือเวลาว่างชอบนอนเอกเขนก คือนอนไขว่ห้างแล้วตาก็มองเพดานเท้าก็กระดิกเป็นอาการที่สบายกายสบายใจ

ผู้นอนจะปลดปล่อยอารมณ์เต็มที่อาจจะฮัมเพลงแล้วกระดิกเท้าให้เข้าจังหวะ ถ้าเผลอหลับไปก็เป็นท่านอนที่ไม่ค่อยสุภาพ หรือถ้าไม่หลับมีใครมาพบเห็นว่ากระดิกเท้าอยู่ก็ทำให้ดูไม่งามตา ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วก็อยากมีชีวิตที่สุขสบายสมบูรณ์ในชีวิต

แต่ถ้ามีคนมาทักว่าเออนอนแล้วกระดิกขาเนี่ยนะเธอจะมีวาสนาไม่ดีไม่รุ่งเรือง ในชีวิตจะต้องลำบากนะ ก็ทำให้กลัวไม่กล้าทำกิริยาแบบนี้ เพราะไม่ว่าใคร ก็คงไม่อยากลำบากและชีวิตไม่รุ่งโรจน์

ห้ามนอนเสมอหรือสูงกว่าผู้ใหญ่จะเป็นบาป

การ ดำเนินชีวิตสมัยก่อนเด็กจะต้องเคารพนบนอบผู้ใหญ่ จะมาทำตีตัวเสมอ ปากกล้าเถียงด่าผู้ใหญ่ไม่ได้เด็ดขาด เขาจะปลูกฝังแม้กระทั่งท่านอนให้เด็กนอน ต่ำกว่าผู้ใหญ่ซึ่งก็เป็นการดีเพราะถ้านอนไปดึก ๆ แล้วดิ้นก็คงไม่เตลิดออกไปนอกมุ้ง

เพราะเมื่อก่อนเขายังไม่มีมุ้งลวดเหมือนปัจจุบัน และถ้าเด็กนอนสูงกว่าผู้ใหญ่ก็จะไม่ดี ตรงที่ว่าถ้าเขาดิ้นเอามือเอาเท้าไปฟาดหน้าฟาดหัวผู้ใหญ่ ถ้าฟาดแรงจนเจ็บ ก็จะทำให้เกิดอาการโมโหทำให้การหลับนอนไม่ราบรื่นเท่าที่ควร


ห้ามนอนเอาขาพาดหน้าต่าง ผีเหย้าผีเรือนจะชัง

คน บางคนเคยตัวจริง ๆ เวลานอนจะต้องกอดต้องเกยต้องปีนป่ายอะไรสักอย่าง ไม่งั้นนอนไม่หลับ จนคนอื่น ๆ ทนไม่ได้ขอแยกห้องนอนเพราะรำคาญ พอจะหลับ ๆ ก็เจอลูกลงปึ้กเข้าให้อ้าว ตื่นนอนลืมตาโพลง ทีนี้กว่าจะข่มตาหลับได้ก็อีกพักใหญ่ ๆ น่ะแหละ

การนอนเอาขาพาดขอบหน้าต่างก็เป็นได้ คือเรือนไทยสมัยก่อนขอบประตูหน้าต่างจะอยู่ต่ำ ๆ เพราะบานประตูหน้าต่างจะยาวและแคบเป็น 2 บานประกบ ไม่กว้างและใหญ่เหมือนเดี๋ยวนี้ พอนอนหงายหนุนหมอนได้ที่ก็เอาเท้าพาดปั๊บลงล็อกพอดี ใครเดินผ่านบ้านนี้ก็มองเข้ามา แทนที่จะเห็นหน้าเจ้าของบ้านโผล่หน้าต่างก็กลายเป็นเห็นเท้าแทน แล้วใครละจะอยากมอง มาทางหน้าต่างของบ้านหลังนี้อีก

เพราะคนในบ้านนอนทุเรศเหลือเกิน จะเตือนก็คงบ่อย จนเมื่อยปากเลยเอาผีสางมาช่วยชะหน่อย ใคร ๆ ก็ไม่อยากให้ใครเกลียดอยากเป็นที่รัก และสุดที่รักด้วยกันทั้งนั้นแม้แต่ผีก็ยังไม่อยากให้เกลียดก็ทำให้เลิกนอน ท่านี้ได้ง่าย ๆ

ห้ามนอนเอามือประสานกันรองหัวจะตายโหง

การ นอนท่านี้ผู้นอนต้องนอนหงายก็เป็นท่านอนที่ไม่ค่อยสวยงามนักในสายตาของผู้ ใหญ่ แล้วถ้านอนเอามือประสานกันรองหัวแทนที่จะใช้หมอนหนุนให้เรียบร้อยก็เป็นการ ส่อแสดงนิสัยของผู้นอนว่าเกียจคร้านแค่จะหาหมอนมาหนุนก็ขี้เกียจและก็เอา มือประสาน รองหัวนอนแบบนี้ก็จะทำให้นอนทับเส้นสายพอตื่นมาจะมีการชา ปวดตามกระดูก ตามข้อทำให้นอนได้ไม่นานต้องเปลี่ยนท่านอน นอนหลับไม่สนิทเป็นท่านอนที่เด็ก ๆ ไม่ควรเห็นและนอนตาม

ห้ามนอนขวางกระดานจะเป็นคนขวางโลก

เรือน ไทยสมัยก่อนพื้นบ้านจะเป็นไม้กระดานแผ่นใหญ่ ๆ ไม่ใช่ไม้รางลิ้นหรือปาเก้ เหมือนเดี๋ยวนี้ บางบ้านปัจจุบันไม่มีไม้เลย มีแต่วงกบประตูหน้าต่างเท่านั้น บานประตู ก็เป็นไม้อัดเพราะว่าไม้หายากและมีราคาแพง คนจึงหันมาปลูกตึกอยู่แทนจนมีคำพูดว่า "สมัยนี้คนรวยอยู่บ้านไม้"

เพราะไม้หายากและแพงนั่นเอง พื้นบ้านสมัยก่อนเป็นไม้กระดานแผ่นใหญ่ ๆ พอเวลานอนก็จะถูให้สะอาดแล้วก็นอนได้เลย แต่ผู้ใหญ่จะบอกให้นอนตามความยาวของแผ่นกระดานไม่ให้นอนขวางแผ่นกระดาน และถ้าหากใครนอนแบบนี้ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขวางโลกนอนไม่เหมือนชาวบ้าน เขา

การนอนแบบนี้ถ้ากระดานไม่เรียบมีร่องมีรูก็จะทำให้เจ็บเนื้อเจ็บตัว และตามร่องกระดาน จะมีเศษฝุ่นผงไปคาอยู่ทำให้บรรดาสัตว์เล็ก ๆ เช่น ไร เรือด ไปอาศัยอยู่ถ้าใครนอน มันก็จะขึ้นมากัดได้ และที่สำคัญการนอนตามกระดานทำให้ไม่ดูขัดนัยน์ตาของผู้พบเห็น จริงๆแล้วเป็นการฝึกความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่า

ห้ามนอนกอดอกเป็นลางร้าย

การ ห้ามนอนท่านี้คงจะสืบเนื่องมาจากการไปงานศพมาแน่ ๆ เพราะตามชนบท การจัดทำพิธีศพ เป็นเรื่องธรรมดาไม่น่ารังเกียจใคร ๆ ก็จะเข้าไปดูได้ตั้งแต่อาบน้ำศพ มัดตราสังข์ และเปิดให้ดูหน้าครั้งสุดท้ายก่อนเผา

และการนอนกอดอกหรือเอามือประสาน ไว้บนอกนี้ก็เหมือนท่านอนของคนตายแล้วเขามัดตราสังข์ไว้ เมื่อเป็นท่านอนที่ไม่ค่อยโสภา จึงห้ามนอนโดยให้หันไปนอนตะแคงหรือนอนกอดหมอนข้างแทนซะให้มันรู้แล้วรู้รอด ไป









ที่มา...นิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 21 ฉบับที่ 316

คุณเมีย พูดดีๆๆเข้าไว้นะครับ

ขำๆๆๆ


ประวัติสุราษฎร์ธานี

ผมไม่ไช่คนสุราษฎร์ธานี เเต่มาอยู่ที่นี้พอจะหามาให้อา่นได้ครับพี่น้อง

ดินแดนประวัติศาสตร์รอบอ่าวบ้านดอน ถือเป็นศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัยที่สะสมอารยธรรมและสืบทอดกันมายาวนาน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในดินแดนแห่งนี้ทำให้ทราบว่า สภาพภูมิศาสตร์ทำให้มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาการของเมืองเป็นอย่างยิ่ง สุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางชุมชนเมืองที่ถูกจัดตั้งด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์รอบอ่าวบ้านดอน เป็นศูนย์กลางการค้าขายนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยพัฒนามาพร้อม ๆ กับชุมชนโบราณอีกหลายแห่งที่อยู่บริเวณรอบอ่าวบ้านดอน ประกอบด้วยชุมชนเมืองสำคัญ ๆ ในอดีตดังต่อไปนี้

"เมืองไชยา" เมืองโบราณมีศูนย์กลางที่ราบลุ่มคลองไชยาเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 10 เกิดผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมด้านศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธแบบเถรวาท มีชื่อเสียงมากเมื่อครั้งวัฒนธรรมศรีวิชัยเจริญรุ่งเรื่องในราวพุทธศตวรรษที่ 13-17 เมืองไชยาเป็นเมืองหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของอาณาจักรนครศรีธรรมราช ชื่อว่า "เมืองบันไทยสมอ"

"เมืองเวียงสระ" มีอายุรุ่นเดียวกับเมืองไชยาอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำตาปี และแม่น้ำพุมดวง มีศูนย์กลางอยู่บริเวณตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่11 - 15 หรือ 16 สภาพภูมิศาสตร์ของเมืองอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ ติดต่อกับทางทะเลไม่ได้การคมนาคมลำบากความสำคัญจึง ลดถอยลงไป เป็นเพียง การขยายชุมชน สะสมแหล่งอาหารเพื่อบำรุงเมืองเท่านั้น

"เมืองคีรีรัฐนิคม" เป็นเมืองขนาดเล็กที่เป็นบริวารของเมืองเวียงสระ เรียกกันว่าเมือง "ธาราวดี" บ้าง "คงคาวดี" บ้าง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาโอบล้อมไปด้วยลำน้ำที่ไหลผ่าน เดิมเมืองนี้ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำรอบ ภายหลังมาขึ้นกับเมืองตะกั่วป่าและยังไม่มีการปกครองเป็นหัวเมืองจึงเรียกกันว่า "คีรีรัฐนิคม" เมืองนี้มิได้เป็นศูนย์กลางทางการค้า แต่เป็นเมืองหน้าด่านควบคุมสินค้าทางเดินบกข้ามแหลมมลายูระหว่างฝั่งทะเลตะวันตกกับฝั่งทะเลตะวันออก

"เมืองท่าทอง" เป็นเมืองขนาดใหญ่ เชื่อกันว่าเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ชื่อ "เมืองสะอุเลา" ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มลำน้ำท่าอุแท และคลองกะแดะควบคู่กันในอำเภอกาญจนดิษฐ์ อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นต้นมา เป็นชุมชนกระจัดกระจาย พบว่าตำบลช้างขวาและใกล้เคียงมีศิลปกรรมสมัยทราวดี สมัยรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าให้ย้าย "เมืองท่าทอง" จากริมคลองท่าเพชร(คลองท่าทองใหม่) มาตั้งที่ "บ้านดอน" เนื่องจากบริเวณนี้เป็นชุมชนหนาแน่น ชาวบ้านส่วนหนึ่งอพยพมาจากเมืองท่าทองได้รับความเสียหายจากศึกพม่าครั้งก่อน และบ้านดอนเป็นท่าเรือรับส่งสินค้า โปรดเกล้าให้ยกฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครพระราชพระราชนามใหม่ให้ว่า "เมืองกาญจนดิษฐ์" สมัยรัชการ ที่ 5 ร.ศ.117 (พ.ศ.2441) ทางการได้ออกข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมือง โดยปฏิรูปการปกครองให้ท้องที่หลายอำเภอรวมกัน มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาและรวมหลายหัวเมืองเป็นมณฑลเรียกว่า ปกครองแบบ "มณฑลเทศาภิบาล" โปรดเกล้าให้รวมเมืองไชยา เมืองกาญจนดิษฐ เมืองหลังสวน และเมืองชุมพร เป็น "มณฑลชุมพร" พ.ศ.2442 รวมเมืองไชยา เมืองกาญจนดิษฐ์เป็นเมืองเดียวกัน (เมืองคีรีรัฐนิคมรวมกับเมืองไชยาก่อนแล้ว ) เข้าเป็นเมืองไชยา

สมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2458 ย้ายศาลาว่าการมณฑลจากชุมพร มาตั้งที่บ้านดอนบริเวณเดียวกับศาลากลางเมืองไชยา (บ้านดอนเดิม) ยกฐานะเมืองท่าทองเป็นอำเภอกาญจนดิษฐส่วนเมืองไชยาเก่าให้เป็น "อำเภอพุมเรียง" แต่ราษฎรยังเรียกว่าเมืองไชยา เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปักใต้ ได้ประทับ ณ เนินเขาใกล้กับเมืองพุนพินทรงเห็นภูมิประเทศคล้ายกับเมือง "สุรัฐ" ของอินเดียมีแม่น้ำ "ตาปิตี" ไหลผ่านจึงพระราชทานนามเมืองนี้ว่า "สุราษฎร์ธานี" คือ "เมืองคนดี" เมื่อ 29 กรกฎาคม 2458 หลังจากนั้นอีก 1 เดือน จึงพระราชทานชื่อแม่น้ำสายที่ไหลผ่านว่า "แม่น้ำตาปี" เมื่อเดือนสิงหาคม 2458 และพระราชทานพลับพลาที่ประทับว่า "พระตำหนักสวนสราญรมย์" พร้อมทั้งให้เรียกชื่อควนท่าข้ามว่า "สวนสราญรมย์"

สำหรับอาคารที่ทำการมณฑล (ศาลากลางจังหวัด ) เคยย้ายไปตั้งที่ทำการที่ตำบลท่าข้ามอำเภอพุนพิน แล้วย้ายกลับมาที่บ้านดอน เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่บ้านดอน ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ศาลากลางจังหวัดถูกเผาทำลายและสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่เดียวกัน แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2497 และอาคารหลังนี้ถูกวางระเบิดเสียหาย จึงได้ย้ายไปทำการสร้างใหม่ที่ถนนดอนนก ซึ่งเดิมเป็นสนามกีฬาจังหวัดจนกระทั่งปัจจุบัน

"สุราษฎร์ธานี" เป็นนามซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ.2458 เนื่องจากการเรียกชื่อเมืองก่อนหน้านั้นยังซ้ำซ้อนและสับสนกันอยู่ ประกอบกับพระองค์ได้ทรงพิจารณาว่าประชาชนทั่วไปนี้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย และทรงทราบจากผู้ปกครองเมืองว่า ประชาชนในเมืองนี้ตั้งมั่นอยู่ในศิลธรรมเคารพและยึดมั่นในพระพุทธศาสนา จึงได้โปรดเกล้าเปลี่ยนชื่อเมืองเดิม จากเมืองไชยา มาเป็น เมืองสุราษฎร์ธานี

ก่อนที่จะกล่าวถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ควรจะทราบประวัติความเป็นมาของจังหวัดในอดีตเสียก่อนว่ามีประวัติความเป็นมาในแต่ละสมัยอย่างไร

สุราษฎร์ธานีในสมัยศรีวิชัย ดินแดนส่วนที่เป็นด้ามขวานของไทยจนถึงแหลมมลายู ก่อนที่จะมาเป็นดินแดนภาคใต้ของไทยและประเทศสหพันธ์รัฐมาเลเซียทุกวันนี้ ในอดีตเคยเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อ ๆ กันมาหลายยุคหลายสมัย บางครั้งก็เจริญรุ่งเรืองสูงสุด บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรฟูนัน จนถึงพุทธศตวรรษที่ 13 เมื่ออาณาจักรฟูนันซึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8-12 มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ทางอีสานเสื่อมอำนาจลง บรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยทางภาคใต้ซึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรฟูนัน จึงได้ตั้งเมืองอิสระขึ้น ในระยะนี้กล่าวถึงชื่อประเทศใหม่ ๆ ในแหลมมลายู เช่น ประเทศครหิ ตั้งเมืองหลวงอยู่อ่าวบ้านดอน ตอนที่เป็นไชยาทุกวันนี้ อีกประเทศหนึ่งชื่อตามพรลิงค์หรือ ตามพรลิงเคศวร ตั้งเมืองหลวงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ต่อมากษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์องค์หนึ่งมีอานุภาพมาก ได้แผ่ขยายอิทธิพลมาถึงและรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยเหล่านี้เข้าไว้เป็นอาณาจักรหนึ่ง แผ่อาณาเขตขึ้นมาเกือบครึ่งค่อนแหลมมลายุ คือ ตั้งแต่เขตเมืองไชยาลงไปมีชื่อว่า อาราจักรศรีวิชัย

กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ ที่ทรงปกครองอาณาจักรศรีวิชัยนี้ เล่ากันว่า สืบเชื้อสายมาจากปฐมกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรฟูนัน ซึ่งมีประวัติพิสดารที่ราชทูตจีนมาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับฟฃูนัน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 เขียนเล่าในจดหมายเหตุว่า แต่เดิมกษัตริย์ที่ปกครองฟูนนันเป็นผู้หญิง ทรงพระนามว่า พระนางหลิวเหย หรือ พระนางใบสน ต่อมามีชายคนหนึ่งชื่อ โกณฑัญญะ มาจากดินแดนแห่งหนึ่งอาจเป็นอินเดีย แหลมมลายู หรือหมู่เกาะทางใต้ เกิดฝันไปว่าเทวดาดาประทารธนูให้และสั่งให้ลงเรือสำเภาออกทะเลไป จะได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ยังดินแดนแห่งหนึ่ง รุ่งเช้าโกณฑัญญะ ตื่นขึ้นจึงตรงไปยังเทวาลัย ก็ได้พบธนูดังความฝัน จึงลงเรือสำเภาจากอินเดียแล่นเรือเรื่อยมาจนถึงอาราจักรฟูนัน พระนางใบสนทราบข่าวนำเรือและกำลังอาวะออกมาต้านไม่ให้โกณฑัญญะและพรรคพวกที่ติดตามมาขึ้นจากเรือ โกณฑัญญะยิงธนูศักดิ์สิทธิ์ ไปตรึงเรือของพระนางใบสน ผู้คนชาวฟูนันล้มตายเป็นอันมาก พระนางใบสนจึงยอมอ่อนน้อมและยอมอภิเษกสมรสด้วย โกณฑัญญะตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรฟูนัน

ดอกเตอร์ควอริตย์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้เขียนเรื่องราวของกษัตริย์ไศเลนทร์ ไว้ว่า เมื่อราว พ.ศ. 1273-1740 หลังจากที่อินเดียเกิดยุคเข็ญเป็นจลาจลอย่างหนักแล้ว ราชวงศ์ปาละ ได้เป็นส่วนใหญ่ในแคว้นเบงกอล บ้านเมืองจึงไม่สงบเป็นปกติดังเดิม พระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์นี้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน อิทธิพลของแคว้นนี้ได้แพร่หลายไปทางตอนใต้ของอินเดียรวมทั้งแคว้นไมสอร์ซึ่งมีกษัตริย์ราชวงศ์ดังคะ ที่เป็นเชื้อสายของกษัตริย์ราชวงศ์ปาละปกครองอยู่ด้วย แต่บ้านเมืองในแคว้นไมสอร์ขณะนั้น ไม่ค่อยเป็นปกตินัก จึงมีเจ้านายในราชวงศ์นี้พร้อมด้วยอนุชาสี่องค์ลงเรือข้ามน้ำทะเลขึ้นบกที่เมืองตะกั่วป่า แล้วเดินทางเข้ามาแย่งเอาเมือง ครหิหรือเมืองไชยาไว้ แล้วตั้งตนเป็นอิสระ ได้แผ่อาณาเขตออกไปจนตลอดแหลมมลายู และตั้งเป็นอาณาจักรศรีวิชัย

เรื่องการตั้งอาณาจักรศรีวิชัยและศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย ในวงการประวัติศาสตร์ไม่อาจยุติได้ว่ามีรายละเอียดอย่างไร หรือตั้งอยู่ที่ใดแน่ แต่จากหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีทำให้ทราบว่า ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทยลงไปจนถึงอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลแบบศรีวิชัยทั้งสิ้น

ถึงแม้เรื่องราวความเป็นมาของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ ที่ได้แก่การครองอาณาจักรศรีวิชัยต่อมาจะไม่ค่อยตรงกันโดยตลอดก่อตาม แต่ก็ยังจับเค้าได้ว่า ผู้ได้เป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้มาจากอินเดียอย่างแน่นอน และเป็นผู้หนึ่งที่ได้นำอารยะธรรมของอินเดียมาเผยแพร่ยังดินแดนแหลมทอง

ข้อสรุปนี้ผูกมัดเกินไป เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่แน่นอนพอจะทำให้ทราบได้ว่าผู้ที่เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้มาจากอินเดียโดยตรง ในฐานะพ่อค้าหรือพราหมณ์ แล้วเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองหรือทางวัฒนธรรมซึ่งจะพัฒนาต่อมาในดินแดนแถบนี้

อาณาจักรศรีวิชัย มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น ในจดหมายเหตุหลวงจีนอี้จิง ซึ่งเดินทางมาศึกษาพระธรรมในอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ได้เขียนไว้ว่า ระหว่างเดินทางยังได้แวะที่ เกาะสมุยตราและว่าในเกาะนี้มีประเทศชื่อ ชีหลีทุดชี เป็นประเทศที่อารยธรรมสูง นับถือพุทธศาสนานิกายสายใต้" นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่ากรุงศรีวิชัยไปมาหาสู่ติดต่อกับอินเดีย มีเรือบรรทุกสินค้าไปจำหน่ายยังเมืองท่าต่างๆ ในอินเดีย

อาณาจักรศรีวิชัยที่เป็นตลาดใหญ่ย่านกลางของสินค้าเครื่องเทศในสมัยนั้น มีเรือกำปั่น บรรทุกสินค้าไปขายยังเมืองโอมานประเทศอาหรับด้วย พ่อค้าชาวอาหรับจึงรู้จักกรุงศรีวิชัยและได้จดหมายเหตุไว้แต่กรุงศรีวิชัยถูกเรียกว่า กรุงซามะดะ มีข้อความปรากฏในหนังสือเรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณของพระยาราชธน เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของกรุงศรีวิชัยในจดหมายเหตุชาวอาหรับอยู่ตอนหนึ่งว่า

รายได้แผ่นดินของพระเจ้าไศเลนทร์ส่วนหนึ่ง ได้จากค่าอาชญาบัตรไก่ชน ไก่ตัวใดชนะ ไก่นั้นตกเป็นสิทธิของมหาราช เจ้าของจะต้องนำทองคำไปถวาย สิ่งหนึ่งที่พ่อค้าชาวอาหรับเหล่านี้เห็นควรกล่าว คือ ในเวลาเช้าทุกวัน มหาราชเสด็จประทับในพระราชมณเฑียรซึ่งหันหน้าสู่สระใหญ่ ขณะนั้นมหาดเล็กนำอิฐทองคำมาถวายแผ่นหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสให้ข้าราชการโยนอิฐทองคำลงไปในสระทันที สระนี้น้ำขึ้นลงเพราะมีครองหรือลำธารน้อย ๆ เชื่อมถึงสระกับทะเล เวลาน้ำขึ้นก็ท่วมกองอิฐทองคำ ซึ่งโยนสะสมไว้ทุกวัน เวลาน้ำลดก็มองเห็นอิฐทองคำเหล่านั้นโผล่ขึ้นเหนือน้ำ เมื่อต้องแสงแดดแลเหลืองอร่าม มหาราชตรัสว่า จงดูพลังของเราการโยนอิฐลงในสระนั้นเป็นประเพณีที่มหาราชแห่งกรุงซามะดะ ประพฤติสืบกันมา ถ้ามหาราชองค์ใดสิ้นประชนม์ลง มหาราชองค์ที่สืบราชสมบัติต่อก็เก็บรวบรวมอิฐทองคำเหล่านั้นไปหลอม แล้วทรงแจกจ่ายให้ปันแก่พระราชวงค์ และข้าราชการ เหลือนอกนั้นประทานแก่คนยากจน จำนวนแผ่นอิฐทองคำของมหาราชองค์หนึ่ง ๆ ที่โยนสะสมไว้ในสระเมื่อถึงเวลาสิ้นพระชนม์ก็เก็บรวบรวมและจดจำนวนลงบัญชีไว้ถูกต้อง ถ้าองค์ใดเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วปรากฎว่ามีแผ่นอิฐทองคำที่สะสมไว้เป็นจำนวนมากที่สุด ก็นิยมยกย่องมหาราชองค์นั้นอย่างสูงเพราะถือว่าได้เสวยราชย์มานานปี จำนวนอิฐทองคำจึงมีมาก

แม้อาณาจักรศรีวิชัยจะเจริญมากดังได้กล่าวมาแล้วและมีอายุมากนานถึง 600 ปี แต่ก็ไม่สามารถชี้ได้ชัดลงไปว่า เมืองหลวงหรือราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ใด ต้องใช้หลักฐานทางโบราณคดีเข้าช่วย จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับกันแน่นอน ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ ได้มีผู้สันนิษฐานกันหลายอย่างว่าจะอยู่ที่ใดแน่ เช่น ศาสตราจารย์ ยอร์จ เซเดส์ สันนิษฐานว่าอาณาจักรศรีวิชัยนั้นมีราชธานีอยู่ที่เกาะสุมาตรา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองปาเล็มบัง ปัจจุบันนี้ และเมื่อมีอำนาจมากขึ้น จึงได้แผ่อาณาเขตขึ้นมาครอบครองตลอดแหลมมาลายู จนถึงดินแดนเมืองไชยา ส่วนนักโบราณคดีชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อ มาชุมทาร์ เห็นว่าราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยไม่ควรอยู่ที่ปาเล็มบังในเกาะสุมาตรา เพราะในเกาะสุมาตราไม่ปรากฎ ซากบ้านเมืองสมกับเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรศรีวิชัยอันใหญ่โตแต่อย่างใดเลย ที่ถูกควรจะอยู่ที่ใดที่หนึ่งที่อยู่ในแหลมมลายูมากกว่า

ดร.ควอริตย์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษเห็นว่าการหาหลักฐานจากหนังสืออย่างเดียวไม่พอ จึงได้ลงทุนสำรวจค้นคว้าด้วยตนเอง โดยเดินทางตัดข้ามแหลมมลายูจากตะกั่วป่ามาบ้านดอนตามแบบที่ชาวอินเดียใช้เป็ฯเส้นทางเดินในที่สุดก็ลงความเห็นว่าราชธานีของราชวงศ์ไศเลนทร์ ซึ่งครอบครองอาณาจักรศรีวิชัยควรจะเป็นที่เมืองไชยา เพราะปรากฏว่ามีเมืองโบราณหลายแห่งรอบ ๆ เมืองไชยาและยังพบโบราณวัตถุโบราณสถาน เช่น พรพะบรมธาตุไชยา พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมากในเมืองไชยาอีกด้วย แม้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงเขียนเกี่ยวกับเรื่องดมืองไชยา ความตอนหนึ่งว่า

เมืองไชยาเป็นเมืองใหญ่มาก ใหญ่กว่าเมืองไหน ๆ ในแหลมมลายู เพราะมีแม่น้ำหลวง(ตาปี)ไหลมาออกที่นั้น สืบตามลำน้ำขึ้นไปจนถึงคีรีรัฐนิคมมีทางข้ามไปทางแม่น้ำตะกั่วป่า ลงทางตะกั่วป่าได้อย่างสบาย ทางสายนี้เป็นทางที่พวกอินเดียลงมา เมื่อพิจารณาเทียบกับเมืองนคร ฯ แล้วจะเห็นได้ว่านคร ฯ มีหาดทรายแก้วยาวเพียงแห่งเดียว ทางตะวันออกก็เป็นชายเพือยจนจดทะเล ทางตะวันตกก็เป็นที่ลุ่มแม่น้ำก็เป็นแม่น้ำน้อย ที่ทำกินเพียงแต่พอมี ฉะนั้น จึงถือเป็นใหญ่โตไม่ได้ด้วยเหตุนี้จึงรับรองได้ด้วยวิชาโบราณคดีว่า เมืองนครศรีธรรมราชนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากพระมหาธาตุซึ่งเป็นชิ้นหลัก ตำนานเมืองนคร ฯ ปรากฏว่าพวกแขกพงศาวดารลังกามาเขียนในนครฯก็มี เชื่อได้ยาก พระมหาธาตุที่นครฯนั้นก็เป็นของที่มีกำหนดสร้างแน่นอนค้นได้ ส่วนที่ไชยานั้นมีมาก มหาธาตุก็มี วัดแก้วก็มี วัดเวียงก็มี ได้เคยค้นเมืองไชยานั้นไปถึงเมืองชุมพร ท่าแซะ ฯลฯ ไม่พบเมืองเก่า เมืองเก่าคงมีเพียงเมืองไชยาเมืองเดียวเมืองโบราณเดิมเห็นจะอยู่ ที่เมืองไชยาแน่นอนไม่มีที่สงสัย ส่วยที่นครฯ เป็นเมืองที่เกิดขึ้นสมัยที่ไชยาเจริญ แต่เกิดขึ้นภายหลังจารึกที่พบทั้งหมดอาจอยู่ที่ไชยา

ปัจจุบัน ไชยาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพระธาตุไชยาอยู่ในพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ในสมัยศรีวิชัยเป็นอันมากที่ขุดค้นพบที่ไชยาในบริเวณใกล้เคียงมีวัดเก่า ๆ เช่น เจดีย์วัดหลวงซึ่งยังมีฐานเจดีย์สมัยศรีวิชัยปรากฏอยู่ เข้าใจว่าอาจจะเป็นซากปราสาทอิฐที่พระเจ้ากรุงศรีวิชัยสร้าง ดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก เจดีย์วัดแก้ว เป็นเจดีสมัยศรีวิชัยที่ยังดีอยู่มาก และวัดเวียงซึ่งเป็นที่พบจารึกกรุงศรีวิชัย พ.ศ. 1318 กล่าวถึงพระเจ้าราชาธิราชองค์หนึ่งด้วย พระนามศรีวิชเยศวรภูมดี ศรีวิชเยนทรราชาศรีวิชัยนฤปติ ตอนต้นยกย่องว่าพระองค์ทรงมีคุณธรรมอันประเสริฐ พระพรหมบรรดาลให้พระองค์มาบังเกิดในโลก เพราะพระพรหมทราบประสงค์ที่จะให้ พระธรรมมั่งคงในอนาคต พระองค์สร้างประสาทหินอันงามราวกับเพชรสามประสาทเป็นที่บูชาพระโพธิสัตว์ปัทมะปราณี พระผู้ผจญพระยามารและพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ส่วนด้านหลังจารึกว่าองค์ พระนามศรีวิชเยศวรภูมดีที่กล่าวถึงในด้านหน้านั้นเป็นพระเจ้าราชาที่ราชทรงพระนามวิษณุและศรีมหาราช ทรงเป็นมหาราชแห่งไศเลนทร์วงศ์

ยิ่งกว่านั้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีบริเวณรอบอ่าวบ้านดอนนอกจากเมืองไชยายังมรร่องรอยของเมืองเก่าอีกหลายแห่ง เช่น เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองท่าทอง เมืองพุนพิน และเมืองเวียงสระ ชวนให้สันนิฐานว่าเมืองไชยาจะต้องเป็นหลวงหลวงของราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัย

สุราษฎร์ธานีในสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์

อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงตรงกับสมัยที่กรุงสุโขทัยกำลังเจริญรุ่งเรือง และได้ขยายอำนาจลงมาทางตอนใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู เมืองไชยาซึ่งเป็นเมืองในอาณาจักรศรีวิชัยจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงสุโขทัย

ในสมัยอยุธยามีเมืองสำคัญทางใต้คือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา เป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยานอกจากนี้ยังมีเมืองเล็ก ๆ ขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช คือ เมืองคีรีรัฐนิคม เมืองท่าทอง

ครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้อิสรภาพแล้วจึงสถาปนากรุงธนบุรีสืบต่อจากกรุงศรีอยุธยา หลวงสิบ ปลัดผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อทราบข่าวเสียกรุงศรีอยุธยาจึงตั้งตนเป็นอิสระ เป็นเจ้าครองเมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายศักดิ์เป็นแม่ทัพไปปราบ เดินทัพผ่านเมืองปะทิว เมืองชุมพรเจ้าเมืองชุมพรคุมสมัครพรรคพวกเข้าสมทบกรุงธนบุรี เดินทัพถึงเมืองไชยา หลวงปลัดเมือไชยารวบรวมสมัครพรรคพวกร่วมสมทบด้วยหลวงนายศักดิ์เห็นปลัดเมืองไชยาเป็นผุ้มีความสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาแต่ตั้งเป็นพระยาวิชิตภักดีสงคราม (พระยาคอปล้อง)เป็นราชทินนามเมืองไชยาสืบมา ทัพหลวงนายศักดิ์เดินทางข้ามแม่น้ำตาปีที่ท่าข้าม (อำเภอพุนพิน) หลวงศักดิ์ตั้งรับทัพเมืองนครศรีธรรมราช ที่จะผ่านทางบ้านท่าหมาก อำเภอบ้านนาสาร ทัพหลวงนายศักดิ์ถูกตีล่าถอยกลับไป แล้วไปตั้งทัพรวมไพร่พลเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองไชยา เมื่อไพร่พลหายเหนื่อยแล้ว หลวงนายศักดิ์ได้ส่งกำลังข้ามแม่น้ำตาปีอีก แต่ถูกทัพเมืองนครศรีธรรมราชตีพ่ายกลับมาอีก เป็นอันว่าทัพหลวงนายศักดิ์ไม่สามารถจะเอาชนะทัพหลวงนายสิบได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงต้องยกทัพหลวงโดยทางชลมารคออกแทนเอง โดยทรงพลหลวงมาขึ้นที่ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา แล้วเสด็จไปสรงน้ำละลอตโขลนทวารที่สระน้ำคงคาไชยา ทัพเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้สงบราบคาบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

พอถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยานคร(น้อย)เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้มาสร้างอู่ต่อเรือพระที่นั่ง และเรือรบถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ที่บ้านดอนนี้ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านดอนนี้มีความสามารถขนาดต่อเรือรบได้นับว่ามีฝีมือยอดเยี่ยมมากในสมัยนั้น

ครั้นต่อมาในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองนครศรีธรรมราชอ่อนแอลงเพราะสิ้นบุญเจ้าพระยานคร(น้อย) ขณะนั้นบ้านดอนมีความเจริญรุ่งเรื่องมาก และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน โดยการย้ายส่วนราชกาลเมืองมาทั้งหมด แล้วพระราชทานเมืองใหม่ที่มาตั้งที่บ้านดอนว่า เมือง กาญจนดิษฐ์ และยกฐานะเมืองกาญจนดิษฐ์เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ในเวลาต่อมาโปรดเกล้า ให้รวมเมืองกาญจนดิษฐ์ (บ้านดอน) และเมืองคีรีรัฐนิคมเข้ามาเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่าเมืองไชยา ให้รวมเมืองไชยา เมืองชุมพร เมืองหลังสวน ขึ้นเป็นมณฑลหนึ่งเรียกว่าชุมพร ตั้งศาลากลางอยู่ที่ชุมพร ต่อมาได้ย้ายศาลากลางมณฑลมาตั้งที่บ้านดอน ในบริเวณเดียวกับที่ว่าการไชยา ยกฐานะเมืองท่าทองเป็นอำเภอเอาชื่อเมืองกาญจนดิษฐ์ให้เป็นอำเภอ ขนานนามว่าเมืองไชยา ยกฐานะอำเภอกาญจนดิษฐ์ลดฐานะเมือไชยาเดิมเป็นอำเภอ เรียกว่าอำเภอเมืองไชยา และได้แบ่งเขตการปกครองซอยลงไปอีกท้องที่ใดมีคนมากเป็นที่ชุมชนหนาแน่นพอสมควรหรือท้องที่กว้างขวางเกินไปไม่สะดวกแก่การปกครอง ก็แบ่งแยกไปตั้งเป็นอำเภอและกิ่งอำเภอขึ้นใหม่อีกหลายอำเภอ ต่อมาได้มีระบบการปกครองกำหนดออกมาอีก อำเภออันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนั้นให้เรียกว่าอำเภอเมือง อำเภอเมืองไชยาจึงถัดคำว่าเมืองออกเสีย คงเรียกว่าอำเภอไชยาเฉยๆมาจนทุกวันนี้ ในเวลาเดียวกันกับอำเภอบ้านดอนก็กลายเป็นอำเภอเมืองบ้านดอน ซึ่งเป็นอำเภอที่ตั้งศาลากลางจังหวัดและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองบ้านดอน เป็นอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ตามชื่อจังหวัดที่ได้รับพระราชทาน

ก่อนที่บ้านดอนจะได้กลายเป็นอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี มีประวัติความเป็นมาดังนี้

ดินแดนบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่เรียกว่าอ่าวบ้านดอน ในทุกวันนี้ นักโบราณคดีได้สันนิษฐานไว้ว่า มีผู้คนชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่กันมาแต่หนึ่งพันสี่ร้อยปีก่อนแล้ว ซึ่งก็คงตกประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 นั่นเอง ครั้งกระนั้นมีชาวอินเดียแล่นเรืองมาถึงเมืองตะกั่งป่าและเดินทางเลาะเลียบลำน้ำตะกั่วป่าไปสู่เชิงเขาหลวง ข้ามเขาเดินเลียบริมแม่น้ำหลวงเรื่อยมาจนถึงปากอ่าวบ้านดอนชาวอินเดียเป็นผู้มีวิชาความรู้เหนือชนพื้นเมือง จึงได้แพร่วัฒนธรรมของตนไว้ในดินแดนเหล่านี้ สมัยนั้นเป็นเวลาแห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งนักโบราณคดียังถกเถียงกันไม่เป็นที่ยุติว่า นครหลวงแห่งอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ในสุมาตราหรือที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีกันแน่

รอบอ่าวบ้านดอนมีเมืองสำคัญ ๆ อันเป็นที่มาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบันอยู่หลายเมือง คือ เมืองไชยา ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำท่าทองอุแท อยู่ในบริเวณอำเภอกาญจนดิษฐ์ ปัจจุบัน และเมืองคีรีรัฐนิคมตั้งอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง เดี่ยวนี้อยู่ในเขตอำเภอคีรีรัฐนิคมนั้นเอง

เมืองทั่งสามนี้เป็นเมืองเก่าแก่อันเป็นต้นกำเนิดของจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือบ้านดอนวันนี้

ในหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ของกรมศิลปากร ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2509 มีข้อความตอนหนึ่งในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ว่า

เมื่อพระพนมวัดแลนางสะเคียงทอง และศรีราชาออกมาสร้างเมืองนครดอนพระนั้น และพระพนมวัง แลนางสะเคียนทองก็มาตั้งบ้านอยู่จงสระ อยู่นอกเมืองดอนพระ สร้างป่าเป็นนา สร้างนาทุ่งเขน สร้างนาท่าทอง สร้างนาไชยคราม สร้างนากะนอม สร้างนาสะเพียง อีกตอนหนึ่งกล่าวถึงเมืองท่าทองไว้ว่าพระยาศรีธรรมโศกราชก็ทูลกรุณา ว่า เมืองท่าทองใต้หล้าฟ้าเขียวนี้ ยากเงินทอง ข้าพเจ้าพระบาทอยู่หัวขอนำเงินเล็กติดตรานะโมแต่นี้ไปเมื่อหน้า

ข้อความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเกี่ยวกับเมืองท่าทองนี้ไม่มีศักราชระบุไว้แน่นอน เมืองท่าทองนี้จะตั้งมาแต่ครั้งไหน แต่มีข้อความที่ชวนให้สืบสาวความเก่าแก่ของเมืองท่าทองได้ เมื่อตำนานนี้กล่าวถึงเงินนะโม อันเป็นตราที่ใช้ในสมัยโบราณก่อนหน้าที่จะเกิดกรุงศรีอยุธยาคือก่อน พ.ศ.1893 ในสมัยอยุธยาได้นำเงินพดด้วงเลียนแบบเงินตรานะโมที่เคยใช้ในสมัยก่อน ดังนั้น เมื่อเมืองท่าทองเกิดข้าวยากหมากแพง ยากเงินยากทอง เจ้าเมืองจึงนำเงินตรานะโมมาใช้ที่ท่าทอง เป็นอันสันนิษฐานได้ตามหลักโบราณคดีว่า เมืองท่าทองจะต้องเป็นเมืองมาแล้วในราวพุทธวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัย มีหลักฐานทางโบราณวัตถุ เก่าแก่อยู่หลายแห่ง เช่น ที่วัดคูหา วัดเสมา และวัดม่วงงาม เป็นต้น

เมืองท่าทองเดิมทีเดียวตั้งอยู่ที่บ้านสะท้อน มีเรื่องเก่าแก่เป็นทำนองตำนานว่า สมัยเมื่อหลายปีมาแล้ว ริมคลองแห่งนี้มีต้นสะท้อนอยู่เป็นดง ต่อมานายมากชาวเมืองนครศรีธรรมราช อพยพผู้คนมาตั้งทำกินที่นี้จนมีฐานะร่ำรวย จึงเปลี่ยนชื่อบ้านสะท้อนเป็นบ้านท่าทอง โดยมีพระวิสูตรสงครามราชภักดี เป็นเจ้าเมืองครั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2328 อันตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฎว่าพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองภาคใต้ตั้งแต่เมืองชุมพร หลังสวน ไชยา จนมาถึงเมืองท่าทอง นครศรีธรรมราช หัวเมืองเหล่านี้ถูกพม่ายึดอยู่ระยะหนึ่ง สมเด็จบรมราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงนำกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปขับไล่จนหมดสิ้น

แต่การทำสงครามในครั้งนี้ เมืองท่าทองถูกทำลายมากเกินกว่าที่จะบูรณะให้ดีได้ดังเดิมได้ดังนั้นหลังสงครามครั้งนี้ ผู้รั้งเมืองท่าทองอันมีนามว่า นายสม จึงได้ย้ายเมืองท่าทองจากบ้านสะท้อนมาที่บ้านกระแดะ (อันเป็นที่ตั้งอำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน) ยังคงเรียกว่าเมืองท่าทองตามเดิม นายสม ผู้ตั้งไว้ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิเศษ ครองเมืองท่าทองอยู่ที่ริมคลองกะแดะ ไม่นานก็พิจารณาย้ายเมืองมาอยู่ที่คลองมะขามเตี้ย อำเภอเมืองในปัจจุบัน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2336 หลวงวิเศษได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสูตร ครองเมืองท่าทองจนถึงปี พ.ศ. 2375 ก็ถึงแก่กรรม บุตรชายพระวิสูตรได้ครองเมืองแทนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระพิทักษ์สุนทร

ในระหว่างเมืองท่าทองมาตั้งอยู่ริมแม่น้ำมะขามเตี้ยนี้เอง ชุมชนแห่งใหม่ได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ บริเวณที่ดอนริมแม่น้ำหลวง สถานที่แห่งนี้เจ้าพระยานครได้ส่งคนมาต่อเรือกำปั่นเดินทะเลหาไม่ได้ง่ายจากริมแม่น้ำหลวง เนื่องจากบริเวณเป็นที่ดอนนี่เอง ชาวบ้านก็เลยเรียกกันว่า บ้านดอน ส่วนทางด้านเมืองท่าชนะนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานคร(น้อย) ได้ส่งบุตรชายชื่อพุ่มมาเป็นเจ้าเมือง พอถึงรัชการสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงแก่อสัญญกรรมแล้วในวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2458 วันนั้นนับเป็นวันสำคัญของชาวเมืองไชยา ดังจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ พุทธศักราช 2458 บันทึกไว้ว่า

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 วันนี้มีกระแสพระบรมราชองการดำรัสเหนือเกล้าสั่งผู้แทนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้ประกาศพระราชปรารภเรื่องที่บ้านดอนซึ่งเป็นเมืองไชยาใหม่ แลตั้งที่ว่าการมณฑลชุมพรอยู่นั้น ประชาชนก็คงเรียกว่าบ้านดอนอยู่ตามเดิม และเมืองไชยาเก่าซึ่งเปลี่ยนเรียกว่า อำเภอพุมเรียง แต่ราษฎรก็คงเรียกชื่อเดิม เมืองไชยาเป็นไชยาเก่า ไชยาใหม่ สับสนกันไม่เป็นที่ยุติลงในราชการ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองที่บ้านดอนใหม่ว่า เมืองสุราษฎร์ธานี เปลี่ยนอำเภอพุมเรียง เรียกว่า อำเภอเมืองไชยา เพราะเป็นชื่อเก่า.......

ในวันเดียวกันนี้เอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามแม่น้ำหลวงเป็นแม่น้ำตาปี

การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองไชยาที่บ้านดอนเป็นสุราษฏร์ธานี ก็เพราะทรงสังเกตเห็นว่า ชาวเมืองนี้เป็นคนดีสุภาพเรียบร้อย และการที่ทรงเปลี่ยนชื่อแม่น้ำหลวงเป็นตาปีนั้น เล่ากันว่า พระองค์ทรงนำแบบมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งตั้งต้นจากขุนเขาสัตตปุระ ไหลหงสู่มหาสมุทรอินเดียทางอ่าวแคมเบย์ ชื่อแม่น้ำตาปติ ทางฝั่งซ้ายก่อนที่แม่น้ำตาปติจะออกปากอ่าวนี้ มีเมืองเมืองหนึ่งชื่อเมืองสุรัฎร์ ตั้งอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นสุราษฎร์ธานี (สุรัฎร์) จึงทรงเปลี่ยนแม่น้ำหลวงเป็นตาปีด้วย